OCTOBER 11, 2021 BY SINGAPORE YOUTH FOR CHRIST EDITORIAL TEAM
คุณจะสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไร? คุณคิดว่าคุณจะพยายามชี้แนะแนวทางให้ลูกว่าเขาควรใช้เงินกับสิ่งใดหรือไม่?
คุณจะสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไร?
คุณคิดว่าคุณจะพยายามชี้แนะแนวทางให้ลูกว่าเขาควรใช้เงินกับสิ่งใดหรือไม่? คุณจะสอนเขาให้เห็นคุณค่าของการเก็บออมไว้ใช้ในยามขัดสนหรือไม่? หรือคุณให้ความสำคัญกับการต่อรองที่คุ้มค่า? ซึ่งในยุคปัจจุบัน มีหลักสูตรมากมายที่ให้ความรู้ด้านการเงินแก่เด็กเกี่ยวกับพื้นฐานการลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง
ในฐานะพ่อแม่คริสเตียน เรายังมีอีกแหล่งความรู้ที่พึ่งพาได้เพื่อเป็นแนวทางในการสอนเด็กๆ เกี่ยวกับเงินทอง พระคริสตธรรมคัมภีร์ให้คำแนะนำโดยเฉพาะเรื่องเงินทองไว้มากมาย ซึ่งเป็นภาพรวมที่พระเจ้าทรงมีต่อทรัพย์สมบัติและความร่ำรวย หากสิ่งที่พระคำของพระเจ้ากล่าวไว้เกี่ยวกับความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ประชากรของพระเจ้าทั้งหมดต้องรับฟังและใส่ใจแล้ว เราก็จำเป็นต้องปลูกฝังคำสั่งสอนเหล่านั้นให้กับเด็กๆ ของเราด้วยเช่นเดียวกัน
นี่เป็นคำแนะนำบางประการที่คุณสามารถใช้เพื่ออธิบายภาพรวมที่พระเจ้าทรงมีต่อทรัพย์สมบัติและเงินทองกับลูกๆ ของคุณ
1.ทรัพย์สมบัติมาจากพระเจ้า
พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานความมั่งคั่ง ในพระธรรม 1 ซามูเอลบทที่ 2 บอกเราว่าสิทธิอำนาจของพระเจ้านั้นอยู่เหนือทุกสิ่ง
“พระเจ้าทรงกระทำให้ยากจนและทรงกระทำให้มั่งคั่ง พระองค์ทรงกระทำให้ต่ำลงและพระองค์ทรงยกขึ้น” (1 ซามูเอล 2:7)
ความมั่งคั่งไม่ใช่ความบาปถ้าเป็นการได้มาอย่างซื่อตรงและใช้ไปอย่างชาญฉลาด อย่างไรก็ตาม เราต้องพึงระวังว่าความร่ำรวยนั้นมาพร้อมกับอันตรายที่ต้องเผชิญและหน้าที่ที่ต้องกระทำ ในฐานะพ่อแม่ เราจำเป็นต้องบอกลูกให้รู้ถึงคำเตือนและคำสอนเหล่านี้
“ด้วยว่าการรักเงินทองนั้นเป็นมูลรากแห่งความชั่วทั้งมวล และเพราะความโลภนี่แหละ จึงทำให้บางคนห่างไกลจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์” (1 ทิโมธี 6:10)
การครอบครองความมั่งคั่งไม่ใช่ความบาป ถ้าเป็นการได้มาอย่างซื่อตรงและใช้ไปอย่างชาญฉลาด อย่างไรก็ตาม เราต้องพึงระวังว่าความร่ำรวยนั้นมาพร้อมกับอันตรายที่ต้องเผชิญและหน้าที่ที่ต้องกระทำ
ความมั่งคั่งมาจากพระเจ้า แต่ความรักเงินทองสามารถนำเราออกห่างจากพระเจ้า พระคัมภีร์เตือนอย่างเจาะจงไม่ให้เราแสวงหาเงินทองเพราะความรักในเงินทอง
2.ความมั่งคั่งไม่ใช่ตัวตัดสินคุณค่าของคุณ
ใน 1 ทิโมธี 6:17-19 เปาโลสอนทิโมธีเกี่ยวกับความร่ำรวยในชุมชนคริสเตียน “สำหรับคนเหล่านั้นที่มั่งมีฝ่ายโลก จงกำชับเขาอย่าให้มีมานะทิฐิ หรือให้เขามุ่งหวังในทรัพย์ที่ไม่เที่ยง แต่จงหวังในพระเจ้าผู้ทรงประทานทุกสิ่ง เพื่อความสะดวกสบายของเรา” (1 ทิโมธี 6:17)
มีอันตรายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่มาพร้อมกับผู้ที่ร่ำรวย คือ พวกเขามักกลายเป็นคนเย่อหยิ่ง หากคริสเตียนไม่ระมัดระวังตัวแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะตกหลุมพรางของคำโกหกที่ว่าคุณค่าของเราถูกตัดสินด้วยสถานภาพทางการเงิน ในเยเรมีย์ 9:23 บอกเราว่า “อย่าให้ … คนมั่งมีอวดในความมั่งคั่งของตน”
หากคริสเตียนไม่ระมัดระวังตัวแล้วก็เป็นการง่ายที่จะตกหลุมพรางของคำโกหกที่ว่าคุณค่าของเราถูกตัดสินด้วยสถานภาพทางการเงิน
คริสเตียนที่ร่ำรวยต้องไวต่ออันตรายในการปฏิบัติต่อผู้อื่นราวกับว่าเขาเหล่านั้นสำคัญน้อยกว่า เพียงเพราะพวกเขามีเงินน้อยกว่า เราจำเป็นต้องสอนเด็กๆ ว่าการมีเงินไม่ได้ทำให้เขาเหนือกว่าใคร และไม่ได้หมายความว่าเขาดูถูกคนอื่นได้
3.ความมั่งคั่งเป็นของชั่วคราว
ใน 1 ทิโมธี 6:17 เปาโลกล่าวถึงความร่ำรวย “ในโลกปัจจุบันนี้” (TNCB) ชีวิตของเราบนโลกนี้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และทุกอย่างที่เราให้ความสำคัญจะหมดความหมาย นี่เป็นเหตุที่พระเยซูตรัสว่า ชีวิตของคนมิได้อยู่ในการที่มีของฟุ่มเฟือย (ลูกา 12:15) เราจะจากโลกนี้ไปอย่างตัวเปล่า เช่นเดียวกับเมื่อเราเกิดมา
“เพราะว่าเราไม่ได้เอาอะไรเข้ามาในโลกฉันใด เราก็เอาอะไรออกไปจากโลกไม่ได้ฉันนั้น” (1 ทิโมธี 6:7) เงินทองเป็นเพียงของสำหรับปัจจุบัน ดังนั้นเราต้องมุ่งเน้นที่การใช้มันอย่างเหมาะสม ไม่ใช่มุ่งเน้นที่การสะสม
ในขณะเดียวกันไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนจะมีความมั่งคั่งไม่ได้ เพราะเมื่อพระเจ้าประทานเงินให้กับเรา พระองค์ทรงมีพระประสงค์กับเงินเหล่านั้น ความท้าทายที่แท้จริงสำหรับเราคือการครอบครองเงิน โดยไม่ปล่อยให้เงินครอบครองเรา มีความรับผิดชอบต่อเงินนั้นและไม่โอ้อวด
แต่สิ่งนี้จะทำได้อย่างไร? เป็นการดีที่จะตระหนักว่าเงินตรามีค่าแค่เพียงในโลกนี้ เงินมีไว้ใช้แค่ในโลกปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การใช้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่การสะสม
4.ความมั่งคั่งไม่ได้นำมาซึ่งความแน่นอน
ชีวิตนั้นไม่แน่นอน และความมั่งคั่งก็เช่นเดียวกัน เปาโลกล่าวแก่คนร่ำรวยว่าอย่า “มุ่งหวังในทรัพย์ที่ไม่เที่ยง” (1 ทิโมธี 6:17) หลายคนในพวกเรามักคิดว่าเพียงเพราะบางคนเกิดมาพร้อมกับความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่า พวกเขาคงสุขสบายดี แต่ชีวิตก็เปราะบางและไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นจริงสำหรับคนร่ำรวยเช่นเดียวกัน
เมื่อเราตามหาความมั่นคงในเงินทองและทรัพย์สิน เราก็หยุดให้ความสำคัญกับพระเจ้าในฐานะหลักประกันความมั่นคงของเรา
เราลืมไปว่าแท้จริงแล้วอะไรที่สำคัญ เมื่อเราสอนเด็กๆ ไม่ให้วางใจในเงินทอง เราเองต้องให้ชีวิตของเราเป็นแบบอย่างโดยไม่มุ่งเน้นในสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงิน
5.เชื่อวางใจในพระเจ้า ไม่ใช่เงินทอง
มากกว่าครึ่งหนึ่งของการหย่าร้างกล่าวกันว่ามาจากความขัดแย้งเรื่องการเงิน การโต้เถียงและความวุ่นวายจำนวนมากท่ามกลางคนของพระเจ้าก็มาจากประเด็นเรื่องเงินทอง
ไม่ว่าเราจะพบว่าตัวเองกำลังวิ่งหนีจากเงินทองหรือกำลังวิ่งเข้าหามัน นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจหลักการจากพระคัมภีร์ในเรื่องนี้ ซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อวางใจในพระผู้ให้มากกว่าของขวัญที่เราได้รับ ใน 1 ทิโมธี 6:17 เปาโลอธิบายถึงพระเจ้าในฐานะ “ผู้ทรงประทานทุกสิ่ง เพื่อความสะดวกสบายของเรา”
เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อวางใจในพระผู้ให้มากกว่าของขวัญที่เราได้รับ
พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดเตรียมทุกสิ่ง และพระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เรามีความเบิกบานใจ ความพึงพอใจในการจัดเตรียมของพระเจ้าไม่ใช่เป็นเรื่องผิดหรือเป็นการตามใจตัวเอง และในฐานะลูกของพระเจ้า เราไม่ต้องพึ่งพาเงินทอง เพราะเราสามารถพึ่งพาพระเจ้า
6.ใช้เงินในการทำความดี
หากเรามีเงินทอง เราควรใช้มันอย่างไร? เปาโลกล่าวต่อใน 1 ทิโมธี 6:18 ว่า ”จงกำชับเขาเหล่านั้นให้ทำดี ร่ำรวยในการทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เต็มใจแบ่งปัน“ (TNCB) เราสามารถขยายความข้อพระคำนี้สำหรับเด็กๆ ได้ว่า
ให้พวกเขา “ทำดี” เช่นเดียวกับที่เปาโลกำชับเหล่าผู้เชื่อให้กระทำ พ่อแม่สามารถบอกเด็กๆ ว่า “มีสิ่งดีหลายอย่างที่เราทำได้โดยใช้เงินของเรา เพราะว่าเรามีชีวิตอยู่ที่นี่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้น ให้เราลงทุนในนิรันดร์กาล และเริ่มทำความดีเดี๋ยวนี้เลย”
“ร่ำรวยในการทำความดี” เปาโลไม่เพียงต้องการให้ผู้เชื่อที่ร่ำรวยกระทำดี แต่ท่านยังต้องการให้พวกเขาร่ำรวยในการกระทำดี คือเต็มล้นด้วยการทำดี แทนที่จะถามตัวเองว่า “ความดีน้อยที่สุดที่ฉันควรทำคืออะไร?” เราต้องถามตัวเองว่า “มีความดีอะไรอีกที่ฉันสามารถทำได้?”
จิตใจกว้างขวางของเราสามารถสะท้อนว่าเราพร้อมเพียงใดในการมองว่าทรัพย์สินของเรานั้นมาจากพระเจ้าและจะถูกใช้ไปเพื่อผลดีสำหรับผู้อื่น
“เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ความมั่งคั่งหมายถึงความรับผิดชอบ มันจะทำลายผู้ที่เก็บสะสมมันและผู้ที่ใช้มันเพียงเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง ในคำอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช เมล็ดที่ถูกต้นหนามปกคลุมหมายถึงคนที่หมกมุ่นอยู่กับทรัพย์สมบัติและความกังวลในชีวิต จึงไม่เกิดผล (มัทธิว 13:7, 22) จิตใจกว้างขวางของเราสามารถสะท้อนว่าเราพร้อมเพียงใดในการมองว่าทรัพย์สินของเรานั้นมาจากพระเจ้าและจะถูกใช้ไปเพื่อผลดีสำหรับผู้อื่น
“เต็มใจแบ่งปัน” เราต้องเต็มใจนำสิ่งที่พระเจ้าได้ประทานให้เราและใช้มันในการตอบสนองความจำเป็นของผู้ที่ลำบากและขัดสน ถ้าเป็นการเหมาะสมที่จะขอให้ผู้คนใช้ของประทานของพวกเขาในการรับใช้ ในการเป็นผู้นำ ในการชี้แนะและในการดูแล แล้วด้วยเหตุใดเราจึงจะไม่สามารถขอให้พวกเขาแบ่งปันทรัพย์สินของพวกเขาเช่นกัน? หรือเพราะทุกวันนี้เรามักถือว่าการใช้เงินเป็นเรื่องส่วนตัว? ตามที่นักศาสนศาสตร์ออกัสตินตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เราจะปลาบปลื้มใจจากการแบ่งปันสิ่งที่มีมากกว่าจะเสียใจเมื่อสิ่งที่สั่งสมไว้นั้นหมดสิ้นไปในที่สุด ขอให้เราสามารถพูดได้ในบั้นปลายของชีวิตว่า “สิ่งที่ฉันเก็บ ฉันเสียมันไป สิ่งที่ฉันให้ ฉันยังมีอยู่”
7.เงินทองคือหน้าที่ความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานให้
ถ้าเราทำสิ่งดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเต็มใจแบ่งปันแล้ว เราจะร่ำรวยขึ้นไม่ใช่ยากจนลง เพราะความมั่นคงในการลงทุนขั้นสูงสุดคือ ธนาคารในแผ่นดินสวรรค์
“อย่างนี้จึงจะเป็นการวางรากฐานอันดีไว้สำหรับตนเองในภายหน้า เพื่อว่าเขาจะได้รับเอาชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตอันแท้จริง” (1 ทิโมธี 6:19)
ถ้าเราทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเต็มใจแบ่งปันแล้ว เราจะร่ำรวยขึ้น ไม่ใช่ยากจนลง เพราะความมั่นคงในการลงทุนขั้นสูงสุดคือ ธนาคารในแผ่นดินสวรรค์
นี่เป็นบางส่วนของคำแนะนำที่ใช้ได้จริงในการสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินเงินทอง
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Biblical Wisdom for Parents © Our Daily Bread Ministries หากต้องการอ่านบทความเพิ่มเติม โปรดไปที่: https://biblical-parenting.org/
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Biblical Wisdom for Parents © Our Daily Bread Ministries หากต้องการอ่านบทความเพิ่มเติม โปรดไปที่: https://biblical-parenting.org/
เกิดอะไรขึ้นในใจของลูกสาววัยรุ่นขณะที่เธอมองดูตัวเองในกระจกหรือเลื่อนดูฟีดในโซเชียลมีเดีย จดหมายด้านล่างเขียนโดยพี่น้องสองสาวที่บอกพ่อกับแม่ของเธอว่าจริงๆ แล้วเด็กสาววัยรุ่นทั่วไปคิดเห็นอย่างไร
อ่านต่อ >
ถ้าเราต้องการให้การพูดคุยเกี่ยวกับพระเยซูเกิดผลดีเมื่อพวกเขาโตขึ้น เราต้องทำงานล่วงหน้าเพื่อหว่านเมล็ดของพระเยซูไว้ในใจของพวกเขาและช่วยให้เมล็ดนั้นเติบโต
อ่านต่อ >
คุณจะสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไรดี? คุณคิดว่าคุณจะพยายามชี้แนะแนวทางให้ลูกว่าเขาควรใช้เงินกับสิ่งใดหรือไม่? คุณจะสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไรดี ?
อ่านต่อ >